ทารกอยู่ในท่าขวาง
ทารกอยู่ในท่าขวางหรือไม่ รู้ได้อย่างไร
การวินิจฉัยท่าของทารกในครรภ์อาจใช้แค่การตรวจร่างกาย โดยสูติแพทย์จะใช้มือคลำส่วนหลังของเด็กว่าอยู่ในแนวใด ถ้าอยู่ในแนวยาว ขนานกับลำตัวคุณแม่ และศีรษะอยู่ด้านล่าง แสดงว่าเด็กอยู่ในท่าปกติ แต่ถ้าทารกอยู่ในท่านอนขวางลำตัวแม่ โดยที่ศีรษะอยู่ด้านซ้ายหรือด้านขวา หรือแม้ว่าลำตัวทารกจะขนานกับตัวแม่ แต่ส่วนนำที่อยู่ตรงหัวหน่าวของแม่เป็นก้นเด็กก็ถือว่าอยู่ในท่าที่ผิดปกติ อย่างไรก็ตาม ภาวะที่เด็กอยู่ในท่าขวางพบได้ไม่บ่อยนัก เพียงแค่ประมาณร้อยละ 0.3 ของการคลอดทั้งหมดเท่านั้น
ทารกอยู่ในท่าขวางต้องตัดสินใจเมื่อไรว่า ควรผ่าคลอด
คุณแม่เจ้าของคำถามมีอายุครรภ์ 36 สัปดาห์ ถ้าหากเป็นท้องแรกๆ ก็ยังมีโอกาสที่เด็กจะหมุนเปลี่ยนเป็นท่าปกติอยู่เหมือนกันค่ะ แต่คงเป็นไปได้ยาก เพราะกล้ามเนื้อหน้าท้องยังตึงอยู่ ทำให้เด็กหมุนเปลี่ยนท่าลำบาก แต่ถ้าท้องนี้เป็นท้องที่สี่ขึ้นไป ก็มีโอกาสที่เด็กจะหมุนกลับมาเป็นท่าปกติได้มากกว่าค่ะ
ดังนั้น ถ้าหากเป็นท้องหลัง ควรรอดูอีกสัก 2-3 สัปดาห์ เพื่อประเมินท่าเด็กอีกครั้ง แต่ถ้าเป็นท้องแรก หรือท้องต้น ๆ คุณแม่อาจต้องวางแผนผ่าตัดคลอดเมื่ออายุครรภ์มากกว่า 38 สัปดาห์ขึ้นไป จะปลอดภัยต่อทั้งคุณแม่และลูกน้อยมากกว่า
เปลี่ยนจากคลอดธรรมชาติเป็นผ่าคลอด ต้องเตรียมอะไรบ้าง
คุณแม่ที่ต้องเปลี่ยนแผนการคลอดเป็นผ่าตัดคลอด ควรวางแผนหาคนช่วยดูแลช่วงหลังคลอด เพราะถ้าผ่าตัดคลอด คุณแม่อาจเจ็บแผลผ่าตัด ทำให้เคลื่อนไหวลำบาก ส่งผลให้ดูแลเด็กแรกเกิดได้ไม่สะดวกนัก ถ้ามีคนที่ไว้ใจได้ เช่น คุณย่าหรือคุณยายของเจ้าตัวเล็ก ช่วยดูแลลูกให้ แล้วให้คุณแม่ทำหน้าที่ให้นมอย่างเดียว จะช่วยให้แผลผ่าตัดของคุณแม่หายเร็วขึ้น และกลับมาแข็งแรงเป็นปกติได้เร็วขึ้นด้วยค่ะ
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่
1.เกร็ดความรู้เรื่องการคลอดธรรมชาติ
3.เตรียมรับมือกับ 6 อาการ ที่พบบ่อยหลังคลอดบุตร
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Edutorial Team